“คลินต์ อีสต์วูด” ผู้กำกับมือเก๋าของฮอลลีวู้ด ลุกขึ้นมาทำหนังสงครามฟอร์มยักษ์ถึงสองเรื่องในคราวเดียวกันคือ “Flags of Our Fathers” และ “Letters From Iwo Jima” โดยหนังทั้งสองเรื่องมีจุดร่วมกันอยู่ตรงที่ การเล่าเรื่องการพยายามยึดเกาะ “อิโว จิม่า” ของกองทหารอเมริกัน จากกองกำลังทหารญี่ปุ่นที่รักษาเกาะนี้จนตัวตาย ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และในศึกครั้งนี้ยังทำให้เกิดภาพถ่ายประวัติศาสตร์ เป็นภาพนายทหารอเมริกัน 6 นาย กำลังร่วมกันนำธงชาติสหรัฐปักลงบนยอดเขาซูริบาจิ บนเกาะอิโว จิม่า ภาพถ่ายนี้ถูกนำมาเป็นตัวแทนของชัยชนะของฝ่ายสหรัฐ ทั้งๆที่ความจริงแล้ว เบื้องหลังภาพถ่ายนั้น เต็มไปด้วย ความตาย รอยเลือดและคราบน้ำตาของทั้งสองฝ่าย
คลินต์ อีสต์วูด นำ Flags of Our Fathers ถ่ายทอดสงครามครั้งนั้นผ่านสายตาของทหารอเมริกัน ส่วน Letters From Iwo Jima นั้น อีสต์วูด เล่าผ่านมุมมองของทหารญี่ปุ่น ซึ่งสำหรับเรื่องเสียงวิจารณ์หรือการกล่าวถึงนั้น หนังเรื่อง Letters From Iwo Jima ดูจะมีเสียงชื่นชมอย่างหนาหู มากกว่า Flags of Our Fathers เนื่องจากหลายเสียงลงความเห็นว่า Letters From Iwo Jima ทำออกมาได้ถึงอารมณ์กว่า และหนังยังมีประเด็นที่น่าสนใจมากกว่าอีกด้วย
Letters From Iwo Jima เล่าเรื่องราวของ เหล่าทหารแดนอาทิตย์อุทัยบนเกาอิโว จิม่า ที่กำลังเตรียมรับมือกับกองทัพอเมริกา ที่กำลังจะมายึดเกาะแห่งนี้ โดยนายทหารญี่ปุ่น ทั้ง นายพลผู้บัญชาการรบ “ทาดามิจิ คูริบายาชิ”(เคน วาตานาเบะ)ผู้ที่แบกภาระอันหนักอึ้ง ด้วยการปกป้องเกาะแห่งนี้ ด้วยจำนวนพลที่น้อยกว่าอเมริกาหลายเท่าตัว และยังขาดการสนับสนุนการรบทั้งทางน้ำและทางอากาศอีก,นายทหาร “ไซโก้”(คาซึนาริ นิโนมิยะ)ที่เฝ้าคอยการจบลงของสงคราม เพื่อที่เขาจะได้กลับไปหาลูกเมีย,นายทหารอีกคน “ชิมิซึ”(เรียว คาเสะ) อดีตตำรวจที่ถูกไล่ออก เพียงเพราะไม่ทำตามคำสั่งของเจ้านาย และนายทหารคนอื่นๆที่เหมือนจะรู้ว่า พวกเขานั้นต้องพบเจอกับชะตากรรมเช่นใด?
เรามักจะเคยได้ยินกิตติศัพท์เรื่องความใจถึงของทหารญี่ปุ่นมาเยอะ ทั้งเรื่องการรบแบบเอาตัวเข้าแลก โดยไม่เสียดายชีวิต(ที่เรียก กามิกาเซ่) หรือว่าจะเป็นการยอมฆ่าตัวตาย มิยอมตกเป็นเชลยของข้าศึก สิ่งเหล่านี้นั้น ล้วนแต่ถูกพร่ำสอนให้อยู่ในสายเลือดของเหล่าทหารญี่ปุ่น และการตายแบบนั้น เป็นสิ่งที่พวกทหารญี่ปุ่นเชื่อว่า เป็นการตายอย่างสมเกียรติและเป็นการตายเพื่อจักรพรรดิของพวกเขา ซึ่ง หนังเรื่อง Letters From Iwo Jima ก็ตั้งคำถามถึงการฆ่าตัวตายแบบนั้น ว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้วจริงหรือ? โดยฉากที่แสดงถึงการตั้งคำถามนี้อย่างชัดเจนที่สุดคือฉากที่กองกำลังของ ไซโก้และชิมิซึ โดนข้าศึกโจมตีอย่างหนัก จนต้านไม่ไหว จนหัวหน้าหน่วยเริ่มสั่งให้ลูกน้องทำการฆ่าตัวตาย โดยการนำระเบิดมากอดไว้กับตัว แต่ ไซโก้ กลับไม่ยอมฆ่าตัวตายตาม ชิมิซึ พยายามบีบบังคับให้ไซโก้ฆ่าตัวตาย แต่ไซโก้ บอกกับชิมิซึว่า “ระหว่างการฆ่าตัวตายในตอนนี้เพื่อจักรพรรดิ กับการสู้จนตัวตาย อย่างไหนจะช่วยจักรพรรดิได้มากกว่ากัน?”
และหนังยังแสดงให้เห็นถึง การใช้อำนาจโดยเอา “ความรักชาติ”มาเป็นข้ออ้างในการวางอำนาจของคนบางกลุ่ม อาทิ เรื่องราวของชิมิซึ ที่ก่อนหน้าจะมาประจำการที่เกาะอิโว จิม่านี้ ชิมิซึ เคยเป็นตำรวจเก่ามาก่อน โดยเขาได้ถูกไล่ออก เพราะเขาขัดคำสั่งของเจ้านาย ที่สั่งให้ฆ่าสุนัขตัวหนึ่ง เพียงเพราะคิดว่าเสียงเห่าของสุนัขจะทำให้การสื่อสารในสงครามผิดพลาด! แต่หนังก็ยังใส่ตัวละครที่รักชาติจริงๆอย่าง นายพล ทาดามิจิ คูริบายาชิ เข้ามาโดยความรักชาตินั้นสื่อออกมาผ่านฉากที่ นายพลคูริบายาชิ ร่วมรับประทานอาหารกับนายพลของสหรัฐ ในสมัยที่นายพลคูริบายาชิ อยู่ที่ประเทศอเมริกา และสงครามระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐก็ยังไม่เกิด นายพลของสหรัฐถามนายพลคูริบายาชิ ว่า “ถ้าเกิดสหรัฐกับญี่ปุ่น เกิดทำสงครามกันขึ้นมา คุณจะฆ่าผมมั้ย?” นายพลคูริบายาชิ ตอบว่า “ผมจะทำตามความเชื่อของผม” นายพลของสหรัฐถามอีกว่า “คุณจะฆ่าผม ตามความเชื่อของคุณ หรือตามความเชื่อของชาติ?” นายพลคูริบายาชิ ตอบ “มันไม่เหมือนกันหรือ?”
นอกจากนี้ เรื่องสภาพภูมิทัศน์และสภาพอากาศของเกาะอิโว จิม่า นั้น ก็เหมือนกับสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงจิตใจของเหล่าทหารญี่ปุ่นที่กำลังอยู่บนเกาะนี้ได้เป็นอย่างดี โดยพวกเขาต่างทราบดีว่าเกาะอิโว จิม่า นี้ มันจะเป็นดั่ง “ขุมนรก” ที่พวกเขาต้องติดอยู่ที่นี่ อย่างหาทางออกไม่เจอ ยิ่งเมื่อเห็นเหล่าทหารหลบอยู่ในอุโมงค์ใต้ดินที่สลับซับซ้อนแล้ว ก็ยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ของขุมนรกนี้ให้ชัดยิ่งขึ้น และทั้งหมดนี้อาจเป็นเพราะพวกเขารู้ว่า บนเกาะแห่งนี้นั้น พวกเขานั้นจะมีจุดจบเช่นใด?
และยิ่งในตอนท้ายๆของหนัง พวกเขาต่างรู้ว่า จุดจบได้เดินทางมาถึงแล้ว พวกเขาก็ได้ยินเสียงเพลงเด็กร้องสรรเสริญความกล้าหาญของพวกเขา ผ่านวิทยุที่ส่งมาจากแผ่นดินใหญ่ ซึ่งถ้ามองในแง่ของคนที่ไม่ได้ไปร่วมรับรู้ความสึกในสงครามจริงๆ เราอาจรู้สึกถึงความกล้าหาญของพวกเขา แต่ความจริงแล้ว เมื่อเราได้มาทราบความรู้สึกของคนที่อยู่ในสงครามจริงๆ มันกลับทำให้รู้สึกหดหู่กับความจริงที่โหดร้ายของสงคราม และคำว่า “กล้าหาญ” นั้น มันไม่มีอยู่จริงในสงคราม มันเป็นเพียงแค่คำปลอบประโลมใจเพียงเท่านั้น
ถึงอย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความโหดร้ายนั้น ก็ยังมีสิ่งที่พอจะช่วยบรรเทาจิตใจของเหล่าทหารญี่ปุ่นได้บ้าง สิ่งนั้นคือเหล่า “จดหมาย” ที่เป็นเสมือนช่องทาง เพียงช่องทางเดียวที่จะทำให้พวกเขาได้ติดต่อกับคนที่เขารัก และไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็ตาม(ทั้งญี่ปุ่นและอเมริกา)ต่างก็มี “คนที่อยู่แนวหลัง”ด้วยกันทั้งสิ้น และสิ่งที่สำคัญคือ นอกจากจดหมายจะเป็นตัวช่วยสื่อถึงคนที่รักแล้ว จดหมายยังเป็นเหมือนสิ่งที่ช่วยระบายความเจ็บปวด ความทรมาน และการตั้งคำถามถึงสิ่งที่พวกเขาต้องพบเจอในสงครามบ้าๆนี้ ดังข้อความหนึ่งในจดหมายของไซโก้ที่เขียนถึงภรรยาของเขาว่า “ฮานาโกะ จดหมายฉบับนี้ อาจไปได้ไม่ถึงมือคุณ แต่ว่า เมื่อผมได้เขียนมันออกมาแล้ว มันก็ทำให้ผมรู้สึกสบายใจขึ้น…”